Like us

การวิเคราะห์โครงการทางการเงิน


บาทที่ 7. การวิเคราะห์โครงการทางการเงิน

       แม้ว่าจุดมุ่งหมายในการทำโครงการของรัฐบาลจะมีความแตกต่างจากเอกชน โดยที่จุดมุ่งหมายของโครงการรัฐบาลคือผลประโยชน์สุทธิตกแก่สังคมส่วนรวมสูงสุด ขณะที่ผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุนเป็นจุดมุ่งหมายของเอกชนหรือผู้เป็นเจ้าของโครงการ ในข้อเท็จจริงแล้ว ผลกำไรจากโครงการก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณา ถ้าโครงการดังกล่าวต้องอาศัยเงินทุนจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน เพราะรัฐบาลต้องมีภาระในการจ่ายชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  เมื่อเป็นเช่นนี้การวิเคราะห์ทางการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่า โครงการลงทุนก่อให้เกิดผลกำไรมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้บริหารการเงินของโครงการต้องมีการวางแผนทางการเงินเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเพื่อให้ทราบถึงสภาพทางธุรกิจของโครงการที่กำลังพิจารณาตัดสินใจดำเนินโครงการ
7.1ความหมายของการวิเคราะห์โครงการทางการเงิน
 การวิเคราะห์โครงการทางการเงินเป็นกระบวนการวิเคราะห์ผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายในรูปตัวเงินของโครงการ เพื่อประเมินศักยภาพของโครงการว่าสามารถทำกำไรให้แก่ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือไม่ โดยผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายของโครงการจะจัดทำในรูปของกระแสเงินสด ซึ่งกระแสผลประโยชน์และค่าใช
จ่ายจะถูกประเมินด้วยราคาตลาด

7.2.โครงการที่เหมาะสมแก่การวิเคราะห์ทางการเงิน
โครงการใดก็ตามที่สามารถผลิตผลผลิตออกจำหน่ายในตลาด สมควรต้องวิเคราะห์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนของเอกชนหรือรัฐบาลก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นโครงการลงทุนของเอกชนจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ด้านนี้เสมอ เพราะเอกชนให้ความสำคัญกับผลกำไรที่เป็นตัวเงินซึ่งตกกับผู้เป็นเจ้าของโครงการ ถึงกระนั้นก็ตาม โครงการลงทุนของรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ทางการเงินเช่นกันในกรณีต่อไปนี้
1)  เป็นโครงการที่ได้กำหนดผลประโยชน์ที่ต้องการไว้แล้ว แต่พิจารณาหาทางเลือกที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวโดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำสุด (cost effectiveness)
2)เป็นโครงการที่ต้องอาศัยแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งในและ/หรือนอกประเทศ เพราะผู้ให้กู้ต้องประเมินความสามารถในการทำกำไรของโครงการว่าเพียงพอต่อการชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยหรือไม่
3)โครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่นำมาซึ่งผลประโยชน์ทางอ้อมแก่สังคมระยะยาว ได้แก่ การวิจัยพัฒนาและศึกษาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี  ฯลฯ ซึ่งโครงการเหล่านี้จำเป็นต้องวิเคราะห์ทางการเงินในส่วนของแหล่งเงินทุน และปริมาณเงินทุนสำหรับโครงการ
4) เป็นโครงการที่ผลิตผลผลิตและบริการออกจำหน่ายในตลาด อาทิ เช่น รถเมล์ การสื่อสาร ประปา ไฟฟ้า และการคมนาคมต่างๆ 
 5)เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ขณะเดียวกันงบประมาณมีจำกัดแต่ต้องจัดสรรไปยังโครงการต่างๆที่แต่ละกระทรวงทบวงกรมเสนอขอมานั้น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เงินทุนสูงย่อมต้องวิเคราะห์ทางการเงิน อาทิ โครงการจัดสร้างไซโลแก่ภาคเกษตรกรรม เป็นต้น
7.3.ต้นทุนและผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ
ในการวิเคราะห์โครงการทางการเงินนั้นต้องอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทนของโครงการเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการจัดทำงบกระแสเงินสด
  4.3.1  ต้นทุนทางการเงิน
 ต้นทุนทางการเงิน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการลงทุนและดำเนินงานโครงการ
1) การประเมินค่าต้นทุน
การประเมินค่าทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่นำมาใช้ในโครงการนั้นจะใช้ราคาคงที่หรือราคาที่แท้จริง (constant or real prices) โดยใช้ราคาในปีใดปีหนึ่งเป็นปีฐาน (base year) ถ้าตลาดปัจจัยการผลิตเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ราคาปัจจัยการผลิตก็คือราคาอุปทาน ซึ่งแสดงค่าเสียโอกาสของปัจจัยการผลิต เราสามารถใช้ราคาตลาดของปัจจัยประเมินค่าต้นทุนได้เลย แต่ตลาดปัจจัยการผลิตมักเป็นตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ราคาตลาดนอกจากจะประกอบด้วยราคาปัจจัย ณ แหล่งผลิตแล้วยังรวมถึงค่าภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าการตลาด (เช่น ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์) ฯลฯ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้โครงการได้มาซึ่งปัจจัยการผลิต  เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะประเมินค่าปัจจัยการผลิต ณ ที่ตั้งโครงการ (project gate price) และกรณีที่โครงการมีเงินอุดหนุนจะต้องนำเงินอุดหนุนไปหักออกจากราคาตลาดด้วย
2) ประเภทของต้นทุน
นอกจากต้นทุนทางการเงินที่เป็นต้นทุนที่พิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตเราอาจเรียกต้นทุนนี้ว่าต้นทุนชัดแจ้ง (Explicit cost) อันประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายลงทุน (ค่าใช้จ่ายคงที่) และค่าใช้จ่ายดำเนินการ (ค่าใช้จ่ายผันแปร)
4.3.2  ผลตอบแทนทางการเงิน
 ผลตอบแทนทางการเงิน หมายถึง รายรับจากการจำหน่ายผลผลิตของโครงการโดยตรง
1)  การประเมินค่าผลตอบแทน
การประเมินค่าผลผลิตออกของโครงการนั้นจะใช้ราคาคงที่หรือราคาที่แท้จริง เช่นเดียวกับการประเมินค่าต้นทุน โดยพิจารณาจากราคาตลาดซึ่งถ้าเป็นกรณีตลาดแข่งขันสมบูรณ์ก็สามารถใช้ราคาที่ผู้บริโภคเต็มใจจ่าย (Willingness to pay)ซึ่งราคานี้ปราศจากภาษีและเงินอุดหนุน แต่ถ้าราคาตลาดมีค่าภาษีและเงินอุดหนุนรวมอยู่ก็ต้องมีการปรับค่าราคาตลาดใหม่ อาทิ กรณีมีค่าภาษีก็ต้องหักค่าภาษีออก แต่ถ้ามีเงินอุดหนุนก็ให้บวกเข้ากับราคาตลาด นอกจากนั้น การประเมินค่าผลผลิตต้องทำ ณ ที่ตั้งโครงการเช่นเดียวกับปัจจัยการผลิต ดังนั้น ถ้าราคาตลาดรวมค่าขนส่งและกำไรจากพ่อค้าขายส่งก็ต้องหักรายการเหล่านี้ออกจากราคาตลาดด้วย
 
ในการประเมินต้นทุนและผลตอบแทนของโครงการนั้นจะต้องพิจารณาเฉพาะต้นทุนและผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Incremental) อันเกิดจากการใช้ปัจจัยผลิตหรือผลผลิตส่วนเพิ่ม ซึ่ง ส่วนเพิ่มคือ ความแตกต่างระหว่างปัจจัยผลิตและผลผลิต  กรณีที่มีโครงการ (with project)  กับกรณีไม่มีโครงการ (without project) อาทิ มีโครงการสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบเตาเผา (B) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการกำจัดขยะด้วยวิธีแบบดั้งเดิม คือศูนย์กำจัดขยะแบบฝังกลบ (A)  กรณีนี้ต้องนำต้นทุนและผลผลิตของ (A) หักออกจากต้นทุนและผลผลิตกรณีมีโครงการ (B) ซึ่งจะได้ต้นทุนและผลตอบแทนส่วนเพิ่มของโครงการ (B)  
7.4   งบการเงิน: เครื่องมือสำคัญต่อการวิเคราะห์ทางการเงิน 
การวิเคราะห์ทางการเงินช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการสามารถประเมินความสามารถในการทำกำไรของโครงการ มีการวางแผนทางการเงินที่ดี ตลอดจนจัดระบบการบริหารการเงินที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาในรูปงบการเงิน (Financial statement) ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีของโครงการอันแสดงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของโครงการข้อมูลที่ได้จากงบการเงินจะมีความสำคัญต่อการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโครงการลงทุนของเอกชนหรือโครงการลงทุนของของรัฐบาลที่ต้องอาศัยแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืม งบการเงินมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์โครงการ ได้แก่ งบดุล  งบกำไรขาดทุน และงบแสดงการเคลื่อนไหวของเงินทุน




0 ความคิดเห็น :

ข่าวการศึกษา