Like us

การตีความงบการเงิน


 
บทนำ ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงบการเงิน

งบการเงินสำคัญมี 3 ชนิด คือ

1) งบกำไรขาดทุน บอกเราว่า บริษัททำกำไรเท่าใดในช่วงเวลาหนึ่งๆ

2) งบดุล บอกเราว่า บริษัทสินทรัพย์รวม หนี้สินเท่าใด และมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทในวันนั้นๆเป็นเท่าใด

3) งบกระแสเงินสด ให้ข้อมูลการไหลเข้า-ออกของเงินสดของธุรกิจ

บทที่ 1 งบกำไรขาดทุน

ในการค้นหาบริษัทชั้นยอด วอร์เรนพบว่า รายการแต่ละรายการที่ประกอบกันเป็นงบกำไรขาดทุนของบริษัท สามารถบอกเขาได้ว่าบริษัทนั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่งคั่งอันมหาศาลอย่างที่ต้องการหรือไม่ ส่วนต่างของกำไรเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายการค้นคว้าและพัฒนาสูงหรือไม่เพื่อที่จะคงความได้เปรียบ

ปัจจัยเหล่านี้ประกอบกันเป็นข้อมูลที่เขาเก็บเกี่ยวจากงบกำไรขาดทุน ..สำหรับวอร์เรนแหล่งที่มาของรายได้สำคัญกว่าตัวรายได้เสมอ

1.1 รายได้ ; ความจริงที่ว่าบริษัทมีรายได้มาก ไม่ได้หมายความว่ารายได้ที่เข้ามาเป็นกำไร แต่ต้องนำต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆของธุรกิจมาหักจากยอดรวมรายได้ เท่ากับ ‘รายได้สุทธิ’

1.2 ต้นทุนสินค้าขาย ; ต้นทุนสินค้าขาย หรือต้นทุนรายได้ คือ ต้นทุนของสินค้าที่บริษัทซื้อมาเพื่อขาย หรือต้นทุนของวัสดุและแรงงานที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขายก็ได้ ต้นทุนสินค้าขาย ยิ่งต่ำยิ่งดี

1.3 กำไรขั้นต้น/ส่วนต่างกำไรขั้นต้น ;

กำไรขั้นต้น คือเงินที่บริษัททำได้จากรายได้ขั้นต้นหลังจากหักต้นทุนของวัตถุดิบและแรงงานที่ใช้ในการทำสินค้าแล้ว แต่ยังไม่รวมค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร ค่าเสื่อมราคา และต้นทุนของดอกเบี้ยในการดำเนินธุรกิจ

สิ่งที่วอร์เรนค้นพบคือ บริษัทที่มีเศรษฐกิจยอดเยี่ยมที่ได้เปรียบในระยะยาวมักจะมีส่วนต่างกำไรขั้นต้นสูง (Gross Profit Margin) สม่ำเสมอกว่าบริษัทอื่น โดยสิ่งที่สร้างส่วนต่างกำไรขั้นต้นสูงให้กับบริษัทคือ ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้บริษัทมีอิสระในการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์และบริการที่จำหน่ายสูงกว่าต้นทุนสินค้าขายได้มาก 

**ทั้งนี้ ส่วนต่างกำไรขั้นต้นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าบริษัทจะรอดพ้นจากความล้มเหลว แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ตัวแรกๆว่า บริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนและมีความสม่ำเสมอ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย คุณปู่ท่านนี้จึงตรวจสอบตัวเลขส่วนต่างกำไรขั้นต้นของบริษัทในช่วง 10 ปีล่าสุด เพื่อความมั่นใจว่าบริษัทมีความสม่ำเสมอ

1.4 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ; 

- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและบริหาร (SG&A) : ค่าใช้จ่ายเหล่านี้รวมถึง เงินเดือนของผู้บริหาร ค่าโฆษณา ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับกฎหมาย ค่าคอมมิสชั่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนทั้งหมดและอื่นๆ

ในการค้นหาบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน บริษัทที่มี SG&A ยิ่งต่ำจะยิ่งดี และหากสามารถคงความต่ำอย่างสม่ำเสมอก็จะยิ่งดีขึ้นอีก

แต่ถ้าหากเราเจอบริษัทที่มีค่า SGA ใก้เคียง หรือมากกว่า 100% ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมายความว่าเรากำลังเล่นอยู่กับบริษัทซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงมาก ทำให้ไม่มีบริษัทใดสามารถมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนได้

ฐานะทางการเงินของบริษัทที่มีค่า SGA ต่ำ สามารถถูกทำลายลงด้วย R&D และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุนที่สูง และหนี้ก้อนโต วอร์เรนจะหลีกเลี่ยงธุรกิจประเภทนี้ไม่ว่าราคาจะเท่าใดก็ตาม เช่น บริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งหลาย ถึงแม้บริษัทจะมี SGA ต่ำแต่จะมี R&D สูง เพราะถ้าบริษัทไม่มีการลงทุนทางด้านการค้นคว้าพัฒนา ผลิตภัณฑ์ก็จะล้าสมัยและต้องเลิกธุรกิจ

- ค่าใช้จ่ายทางด้านการวิจัยและพัฒนา ;

บริษัทที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลในการวิจัยและพัฒนา มีข้อเสียแฝงอยู่ในความได้เปรียบในการแข่งขันที่จะทำให้ฐานะการเงินระยะยาวของธุรกิจมีความเสี่ยงอยู่เสมอ เช่น บริษัทยา เมื่อสิทธิบัตร/ลิขสิทธิ์หมดอายุ ความได้เปรียบของบริษัทก็จะลดลง หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของบริษัทลดลง หรือมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแทนที่ ความได้เปรียบในวันนี้อาจเป็นความล้าสมัยในวันพรุ่งนี้ได้ นั่นหมายความว่า ความได้เปรียบนั้นไม่ใช่ ของตาย และอะไรที่ไม่ใช่ของตาย วอร์เรนจะไม่สนเด็ดขาด

- ค่าเสื่อมราคา ; คุณปู่ เชื่อว่าบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะมีค่าเสื่อมราคาเมื่อเทียบเป็นอัตราร้อยละกับกำไรขั้นต้นต่ำกว่าบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรง

1.5 ดอกเบี้ยจ่าย ;

ดอกเบี้ยที่บริษัทจ่ายออกไปสำหรับหนี้สินของบริษัท ค่าใช้จ่ายนี้เรียกว่าต้นทุนทางการเงิน ที่สะท้อนให้เห็นถึงหนี้สินท้้งหมดที่บริษัทมีในบัญชี ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเท่าใด ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็สูงขึ้น

ทั้งนี้ การที่บริษัทที่มีดอกเบี้ยจ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้จากการดำเนินกิจการ อาจมาจากการที่บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุนสูงเพื่อให้สามารถแข่งกับชาวบ้านเค้าได้ หรือเป็นบริษัทที่มีเศรษฐกิจของธุรกิจยอดเยี่ยมซึ่งมีหนี้จากการซื้อกิจการด้วยเงินกู้

สิ่งที่วอร์เรนค้นพบคือ บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันมักจะมีดอกเบี้ยของรายได้จากการดำเนินกิจการจ่ายน้อยหรือไม่มีเลย

1.6 กำไร (ขาดทุน) จากการขายสินทรัพย์และอื่นๆ ;

รายการนี้คือ รายได้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ ค่าใช้จ่ายที่ไม่ปกติและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย รายการเหล่านี้รวมถึงการขายสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน โรงงาน

**เนื่องจากมันเป็นรายการที่จะไม่เกิดขึ้นอีกและไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการปกติ วอร์เรนจึงเชื่อว่าในการจะตัดสินใจว่าบริษัทมีความได้เปรียบหรือไม่น้ั้น เขาจะไม่นำรายการนี้มาคำนวณรวมกับกำไรสุทธิของบริษัท

1.7 กำไรก่อนหักภาษี ;

นอกจากการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนทุกรูปแบบ จะถูกนำเสนอต่อตลาดในรูปก่อนการหักภาษี และเนื่องจากการลงทุนทุกชนิดจะต้องมีการแข่งขัน เพราะฉะนั้น การคิดถึงธุรกิจภายใต้เงื่อนไขที่เท่าเทียมจึงง่ายกว่า ดังนั้น คุณปู่จึงใช้ตัวเลขนี้เพื่อคำนวณผลตอบแทนที่จะได้รับเมื่อเขาจะเข้าซื้อธุรกิจ

1.8 ภาษีจ่าย ;

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ภาษีจ่าย ก็คือ มันสะท้อนให้เห็นถึงรายได้ก่อนหักภาษีที่แท้จริงของบริษัท เพราะบางครั้งหลายบริษัทชอบอวดว่า ธุรกิจทำเงินได้มากกว่าที่ทำได้จริง ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะรู้ว่าพวกเขาพูดความจริงหรือไม่ก็คือ ไปดูเอกสารที่บริษัทยื่นต่อ กลต. ว่าพวกเขาเสียภาษีรายได้เท่าไร โดยให้ดูตัวเลขที่ระบุว่า รายได้จากการดำเนินกิจการก่อนหักภาษี แล้วหัก % ภาษีออก หากจำนวนที่ได้ไม่เท่ากับจำนวนที่บริษัทระบุไว้ในภาษีจ่าย ก็เริ่มสงสัยบริษัทที่คุณดูได้เลย

1.9 กำไรสุทธิ ;

แนวคิดที่วอร์เรนใช้เมื่อเขาดูกำไรสุทธิ ที่จะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ว่าบริษัทนั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่

- แรกสุด คือ ประวัติของกำไรสุทธินี้มีแนวโน้มสูงขึ้น/สม่ำเสมอหรือไม่

- กำไรสุทธิต่อยอดรวมรายได้ ยิ่งสูงยิ่งดี

*ข้อยกเว้นของกฎข้อนี้คือ ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน เมื่อมีอัตราร้อยละระหว่างกำไรสุทธิและยอดรวมรายได้สูงผิดปกติ มักจะหมายถึงความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารความเสี่ยง ความจริงมันกำลังบ่งบอกถึงการยอมรับความเสี่ยงมากกว่าเพื่อทำกำไรอย่างง่ายๆ ซึ่งในเกมของการให้กู้ยืมเงินแล้ว มักจะเป็นสูตรสำเร็จของปัญหาในระยะยาว

1.10 กำไรต่อหุ้น ;

ปกติแล้วกำไรที่สม่ำเสมอ แสดงให้เห็นว่า บริษัทกำลังขายผลิตภัณฑ์ตัวเดียวหรือหลายตัวซึ่งไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆอันเป็นงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนกำไรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หมายความว่า บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งพอที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการโฆษณาหรือขยายกิจการ

บริษัทที่วอร์เรนจะถอยห่างคือ บริษัทที่มีกำไรไม่แน่นอน มีกำไรสลับกับขาดทุน ไม่คงที่ สิ่งนี้บอกให้รู้ว่าบริษัทนี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและมีแนวโน้มที่จะรุ่งหรือดับไปเลยก็ได้

บทที่ 2 งบดุล

งบดุล แบ่งเป็น 2 ส่วน : ส่วนแรก คือ สินทรัพย์ ส่วนที่สอง คือ หนี้สินและส่วนผู้ถือหุ้น

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น

หลักง่ายๆ คือ ข้างซ้าย เท่ากับข้างขวา เขาถึงเรียกว่างบดุลไงละ ท่านผู้ชม (อันนี้คิดเอง ไม่มีในหนังสือ 555+)

2.1 สินทรัพย์ ;

2.1.1 สินทรัพย์หมุนเวียน ; คือ เงินสด หรือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในเวลาที่สั้น (ภายใน 1 ปี) ที่สามารถนำมาใช้ได้เมื่อการเงินของบริษัทเริ่มมีปัญหาและแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในธุรกิจประจำวันเริ่มร่อยหรอ ประกอบด้วย..

- เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ;

การที่เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดมีตัวเลขสูง แสดงว่าบริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งสามารถทำเงินสดได้เป็นกอบเป็นกำ(เป็นสิ่งที่ดี) หรือบริษัทเพิ่งขายกิจการใดกิจการหนึ่ง หรือพันธบัตรมูลค่ามหาศาล (ไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก)

ปกติแล้ว บริษัทต่างๆจะเก็บเงินสดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ แต่ถ้าเมื่อใดบริษัทมีเงินกองโต บริษัทจะใช้เงินสดส่วนเกินขยายธุรกิจ ซื้อกิจการใหม่ที่ต่างจากเดิม หรือลงทุนโดยการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อหุ้นคืน หรือนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่บ่อยครั้งธุรกิจจะเก็บไว้เพื่อเป็นเงินสำรองสำหรับวันที่ธุรกิจไม่สดใส

โดยส่วนตัวของวอร์เรนแล้ว เขาสนใจบริษัทที่สร้างเงินจำนวนมหาศาลจากธุรกิจที่กำลังทำอยู่/กิจการโดยตรง นั่นหมายถึงว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันระยะยาวเหนือคู่แข่ง

แต่ถ้าเมื่อใดบริษัทกำลังประสบปัญหา หากเราเห็นเงินสดและหลักทรัพย์ที่สามารถขายได้จำนวนสูง และไม่มีหนี้เลยหรือมีเพียงเล็กน้อย เป็นไปได้มากที่บริษัทจะฝ่าฟันพายุไปได้ แต่ถ้าบริษัทประสบปัญหาขาดเงินสด และกอดหนี้กองโตไว้ เป็นไปได้ว่าเรือกำลังจะจม จงสละเรือซะ

- สินค้าคงคลัง ;

หลายธุรกิจมีความเสี่ยงกับการล้าสมัยของสินค้าคงคลัง ความได้เปรียบของบริษัทผู้ผลิตที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน คือ การที่ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายไม่เคยเปลี่ยน หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ม่วันล้าสมัย..นี่คือความได้เปรียบที่วอร์เรนต้องการเห็น บริษัทที่สินค้าคงคลังและกำไรสุทธิสูงขึ้นสอดคล้องกัน บอกเราว่าบริษัทกำลังมองหาวิธีทำกำไรด้วยการเพิ่มยอดขาย และการเพิ่มยอดขายทำให้ต้องเพิ่มสินค้าคงคลัง เพื่อบริษัทจะสามารถจัดสินค้าให้ตามใบสั่งซื้อได้ทันเวลา

บริษัทผู้ผลิตที่มีสินค้าคงคลังพุ่งสูงเพียงสองสามปี แล้วก็ลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว มักจะมีโอกาสเป็นไปได้มากว่า จะเป็นธุรกิจซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง

- ลูกหนี้การค้าสุทธิ ;

หากบริษัทมียอดลูกหนี้การค้าสุทธิต่ำกว่าคู่แข่งเมื่อคิดเป็นร้อยละต่อยอดขายเบื้องต้น แสดงว่าบริษัทนั้นน่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัยที่บริษัทอื่นๆไม่มี

**หมายเหตุ ลูกหนี้การค้า – หนี้เสีย = ลูกหนี้การค้าสุทธิ

- ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ;

เป็นเงินที่บริษัทชำระค่าสินค้าหรือบริหารล่วงหน้าสำหรับสิ่งที่จะได้รับในอนาครอันใกล้ แม้ว่าจะยังไม่ได้ครอบครองสินค้าหรือได้รับประโยชน์จากการซื้อ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ตัวอย่างเช่น เบี้ยประกันภัยสำหรับปีที่จะมาถึงซึ่งชำระไปแล้วล่วงหน้า

- สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ ;

สินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสด แม้จะครบกำหนดภายใน 1 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่อยู่ในมือของบริษัท เช่น ภาษีคืนที่ยังไม่ได้บันทึกบัญชี ซึ่งมีกำหนดได้รับภายใน 1 ปี

2.1.2 สินทรัพย์ที่ไม่หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนหรือจะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในอีก 1 ปีข้างหน้า เช่น อาคาร-ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ,เงินลงทุนระยะยาว เป็นต้น

- อาคาร-ที่ดิน โรงงาน และเครื่องจักร ;

บริษัทที่ไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน จะต้องเผชิญกับการแข่งขันเสมอ หมายความว่าพวกเขาจะต้องปรับปรุงโรงงานผลิตบ่อยๆ เพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน ส่วนใหญ่แล้วต้องทำก่อนที่เครื่องจักรหมดอายุใช้งาน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงอย่างต่อเนื่อง

บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนจะเปลี่ยนเครื่องจักรหรือปรับปรุงโรงงานหลังจากที่มันหมดสภาพแล้วเท่าน้ัน และบริษัทจะสามารถระดมเงินทุนภายในบริษัทเพื่อสร้างโรงงานใหม่หรือซื้อเครื่องจักรใหม่ได้

การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความสม่ำเสมอไม่ต้องเปลี่ยนแปลงบ่อย เท่ากับกำไรที่สม่ำเสมอ ผลิตภัณฑ์ที่สม่ำเสมอหมายถึงการไม่ต้องใช้เงินมหาศาลในการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรเพื่อคงความสามารถในการแข่งขัน ทำให้บริษัทมีเงินในการลงทุนในธุรกิจที่สร้างรายได้อื่น ในการจะรวยได้ สิ่งแรกที่เราต้องทำเงินก่อน ซึ่งถ้าทำเงินได้มากก็จะช่วยได้มาก และวิธีหนึ่งในการทำเงินได้มากคือ การไม่ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อแข่งขันกับใคร

- ค่าความนิยม ;

การซื้อบริษัทหลายๆบริษัทในราคาเกินกว่ามูลค่าตามบัญชี เมื่อใดที่เห็นค่าความนิยมของบริษัทเพิ่มขึ้นตามปีที่ผ่านไป เราสามารถเดาได้ว่าบริษัทนั้นซื้อธุรกิจเข้ามาใหม่ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ดีถ้าบริษัทที่ซื้อมานั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน

- สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ;

คือ สินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ รวมถึงสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ ตราสินค้า เป็นต้น ยกตัวอย่างโคคา โคล่า ที่เครื่องหมายการค้าของโค้กมีมูลค่ากว่า $100,000 ล้าน โดยมูลค่าที่แท้จริงในฐานะสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ถูกซ่อนอยู่ ไม่ได้สะท้อนออกมาในงบดุลของบริษัท รวมถึงริกลี่ย์ Pepsi McDonald หรือ Walmart ..OMG!!

- การลงทุนระยะยาว ;

คือ บัญชีสินทรัพย์ในงบดุลบริษัทที่บันทึกมูลค่าของการลงทุนระยะยาว มากกว่า 1 ปี เช่น หุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ โดยรายการนี้ จะต้องบันทึกราคาสินทรัพย์ในราคาต้นทุนที่ได้มาหรือในราคาตลาด

ทั้งนี้ การลงทุนระยะยาวสามารถบอกถึงแนวคิดของผู้บริหาร เช่น พวกเขาลงทุนในธุรกิจอื่นที่สามารถแข่งขันได้ยั่งยืน? หรือธุรกิจที่อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากหรือไ่ม่? สิ่งที่วอร์เรนมองหา คือ ผู้บริหารของบริษัทธรรมดาๆที่รู้แจ้งแล้ว ทำการลงทุนในบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน นี่คือวิธีที่เขาสร้างเบิร์คเชียร์ .

** ยอดรวมสินทรัพย์ เป็นสิ่งสำคัญในการบ่งชี้ว่า บริษัทมีการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยสามารถดูจาก อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม ซึ่งได้มาจากการหารกำไรสุทธิด้วยยอดรวมสินทรัพย์ วอร์เรนพบว่า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่สูงมากๆอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเปราะบางของความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนของบริษัทได้ เช่น การระดมทุน $43,000 ล้าน เพื่อซื้อกิจการโคคา โคล่านั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่การระดมทุน $1,700 ล้าน เพื่อซื้อมูดี้ส์ มีความเป็นไปได้ เพราะต้นทุนที่ต่ำกว่าในการเข้าสู่ธุรกิจของมูดี้ส์

2.2 หนี้สิน ;

2.2.1 หนี้สินหมุนเวียน ; คือ หนี้สินและภาระผูกพันที่บริษัทเป็นหนี้อยู่และจะครบกำหนดภายในปีบัญชีนั้น ประกอบด้วย

- เจ้าหนี้การค้า คือ เงินที่บริษัทเป็นหนี้คู่ค้าซึ่งขายสินค้าและบริการให้แก่บริษัทด้วยเงินเชื่อ

- ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย คือ หนี้สินที่บริษัทก่อขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ รวมถึง ภาษีค้างจ่าย เงินเดือนค้างจ่าย และค่าเช่าค้างจ่าย

- หนี้ระยะสั้น คือ เงินที่บริษัทติดหนี้และจะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีเช่น เงินกู้ระยะสั้นจากธนาคาร ตราสารหนี้ ในการลงทุนในสถาบันการเงิน

วอร์เรนจะหลีกเลี่ยงบริษัทที่กู้ระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เช่น ธนาคารแห่งอเมริกา มีหนี้ระยะสั้น $2.09 ต่อทุกดอลล่าร์ของหนี้ระยะยาว นั่นคือ เมื่อเกิดปัญหาทางการเงิน บริษัทจะสูญเสียเงินมหาศาล ในขณะที่ธนาคารเวลส์ ฟาร์โก มีหนี้ระยะสั้น 57 cents ต่อทุก 1 ดอลล่าร์ของหนี้ระยะยาว ถือเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบอนุรักษ์นิยม จะทำให้สามารถอยู่รอดได้จากสถานการณ์เลวร้าย

- หนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนด ;

บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนไม่ต้องการหนี้ระยะยาวหรือมีความต้องการน้อยมากในการดำเนินกิจการ ดังนั้น จึงมีหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดน้อย ดังนั้น หากเราเห็นบริษัทที่มีหนี้ระยะยาวที่กำลังจะครบกำหนดก้อนโต บริษัทนั้นจึงไม่น่าจะมีความได้เปรียบในระยะยาว

2.2.2 หนี้สินระยะยาว หมายถึง หนี้ที่ครบกำหนดชำระหลังจาก 1 ปีขึ้นไป สำหรับวอร์เรนเขาจะมองหาบริษัทที่มีหนี้ระยะยาวน้อยหรือไม่มีเลยในงบดุล เพราะว่าบริษัทเหล่านี้ทำกำไรได้มหาศาล และสามารถระดมเงินตัวเองเมื่อต้องการขยายบริษัทหรือซื้อกิจการได้โดยไม่ต้องกู้เงินก้อนโตจากธนาคาร

บริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรพอที่จะชำระคืนหนี้นะยะยาวภายใน 3-4 ปี เป็นตัวเลือกที่ดีในการหาธุรกิจช้ันยอดที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว

- ภาษีรายได้รอตัดบัญชี คือ ภาษีที่รอการชำระ

- ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย นั่นคือ เมื่อบริษัทซื้อหุ้นของอีกบริษัท บอดที่จะบันทึกในสมุดบัญชีคือ ยอดเงินที่จ่ายสำหรับหุ้น ซึ่งจะมาเป็นสินทรัพย์ภายใต้บัญชี การลงทุนระยะยาว แต่เมื่อบริษัทซื้อหุ้นมากกว่า 80% งบดุลของบริษํทที่ได้มาจะเปลี่ยนมารวมอยู่ในงบดุลของบริษัทได้

- หนี้อื่นๆ คือ บัญชีที่รวมหนี้เบ็ดเตล็ดทุกชนิดของบริษัท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่คิดว่าจะเกิด ผลประโยชน์ค้างจ่ายที่ไม่ใช่ในระยะสั้น หนี้ดอกเบี้ยและภาษี ค่าปรับที่ยังไม่ชำระ และอนุพันธ์ต่างๆ

2.3 ส่วนของผู้ถือหุ้น คือยอดเงินที่เจ้าของ/ผู้ถือหุ้นของบริษัทลงทุนในกิจการเป็นก้อนแรกและปล่อยให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

- หุ้นสามัญ ผู้เป็นเจ้าของหุ้นสามัญ มีสิทธิ์ในการเลือกคณะกรรมการบริษัท ได้รับเงินปันผลประจำปีหากมีมติให้จ่ายจากกรรมการ

- หุ้นบุริมสิทธิ์ ผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิ์ออกเสี้ยง แต่ยังคงได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ และได้รับก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ ในกรณีบริษัทล้มละลายก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

* บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันมักจะไม่มีหุ้นชนิดนี้ เพราะว่าบริษัทจะไม่มีหนี้สินใดๆ เนื่องจากบริษัททำเงินได้มากพอจะนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆได้เอง อีกทั้งหุ้นบุริมสิทธิ์มีต้นทุนที่สูงมาก เพราะไม่สามารถหักเงินปันผลที่จ่ายออกจากกำไรก่อนหักภาษีได้

- ส่วนเกินมูลค่าหุ้น คือ ส่วนเกินจากราคาที่ตราไว้ในหลักทรัพย์

- กำไรที่ยังไม่ได้จัดสรร ; เป็นหนึ่งในตัวเลขที่สำคัญที่สุด เพราะหากบริษัทไม่ได้มีกำไรสะสมเพิ่ม มูลค่าสุทธิของบริษัทก็จะไม่เพิ่มขึ้น ยิ่งบริษัทเก็บกำไรไว้มากเท่าใด คลังกำไรของบริษัทก็โตเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของกำไรในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ บริษัทต้องนำเงินนั้นไปซื้อบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไป ไม่ใช่ซื้อบริษัทมั่วซั่ว

- หุ้นซื้อคืน ; หนึ่งในลักษณะเด่นของบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน คือการมีหุ้นซื้อคืนในงบดุล เมื่อใดก็ตามที่บริษัทซื้อหุ้นตนเองคืน ทุนของบริษัทจะลดลง ทำให้ผลตอบแทนต่อหุ้นสำหรับผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น

บทที่ 3 งบกระแสเงินสด

3.1 กระแสเงินสดจากกิจกรรมต่างๆในการดำเนินธุรกิจ

กระแสเงินสดที่เกิดจากกิจกรรมหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ของกิจการ เช่น จากการขายสินค้า, การจ่ายภาษีเงินได้, การจ่ายดอกเบี้ย, การซื้อสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทที่ดีควรจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวก นั่นคือมีรายรับจากเงินสดมากกว่ารายจ่าย เพราะถ้ารายจ่ายมากกว่า บริษัทอาจจะต้องกู้เงินเพื่อมาจ่ายส่วนเกินรายรับ

3.2 กระแสเงินสดจากการลงทุน

การจ่ายเงินสดหรือเทียบเท่าเงินสดสำหรับสินทรัพย์ระยะยาวที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เช่น อาคาร ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ลิขสิทธิ์ เป็นต้น

หากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุนสูงมากเป็นเวลาหลายปี มันจะเริ่มส่งผลต่อกำไรของบริษัท วอร์เรนจึงไม่ค่อยสนใจท่ี่จะลงทุนในบริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการสร้างธุรกิจ แต่เขาจะลงทุนในบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทุนในการดำเนินกิจการน้อยกว่าบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายมาก

3.3 กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงิน

บริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนสามารถทำเงินได้มหาศาล ที่ทำให้เกิดปัญหาที่ทุกคนชอบคือ จะนำเงินไปทำอะไรดี?

หากบริษัทไม่อยากเก็บไว้เฉยๆ และก็ไม่ต้องการนำไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่ทำอยู่ หรือหาธุรกิจใหม่ที่จะลงทุน บริษัทสามารถใช้เงินด้วยการจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือใช้ซื้อหุ้นคืน

หากบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนทุกปีเป็นไปได้ว่าบริษัทนั้นมีโอกาสสูงที่จะทำกำไรมากมายให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้

พูดอีกอย่างก็คือ ประวัติการซื้อหุ้นคืนของบริษัทเป็นอีกตัวที่จะบ่งชี้ให้รู้ว่า บริษัทนั้นๆมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่

Credit >> http://www.sarut-homesite.net

0 ความคิดเห็น :

ข่าวการศึกษา