Like us

การเลือกลงทุนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

 

การเลือกลงทุนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ
สำหรับผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นก็คงจะมีความกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจซบเซาอันเกิดจากทั้งต่างประเทศและปัญหาการเมืองในประเทศ ที่เห็นต่างประเทศทยอยถอนการลงทุนตั้งแต่เกิดเหตุความวุ่นวายทางการเมืองในเดือนเมษายนเป็นต้นมามีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท ไปแล้ว

ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุนลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็อยากจะเน้นว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่และมีการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาครั้งรุนแรงในปี 2552 ที่ผ่านมา

ในวันนี้จึงจะขอพูดถึงว่าในวัฏจักรของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้น ธุรกิจจะมีการฟื้นตัวเป็นอย่างไร ซึ่งเนื้อหาสาระส่วนหนึ่งได้คัดลอกมาจากหนังสือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องเคล็ด (ไม่ลับ) สู่อิสรภาพทางการเงิน ตอนรู้จังหวะการลงทุนเล่ม 4 มาเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนนะคะ

โดยทั่วไปในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา รัฐบาลและธนาคารกลางก็จะใช้นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายในการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะทำให้ประชา ชนใช้จ่ายมากขึ้นและต้นทุนการผลิตของธุรกิจดีขึ้น ทำให้ภาคสถาบันการเงินมักจะฟื้นตัวก่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลายมักจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนธุรกิจอื่น ๆ ทั้งหมด เพราะตลาดหุ้นเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตามเมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัวธุรกิจที่จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ คือบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ตามมาด้วย ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมีผลประกอบการกำไรจากการลงทุน โดยเฉพาะกำไรจากการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้นจากการลดลงของอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้

กลุ่มธุรกิจที่จะฟื้นตัวเป็นระลอกที่สองก็คือ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทคงทนถาวร เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการตอบสนองไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย

ดังนั้นธุรกิจและสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บริษัท อสังหาริมทรัพย์ บริษัทเงินทุน บริษัทลีส ซิ่ง บริษัทบัตรเครดิต ฯลฯ ก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย

ถ้าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงจุดหนึ่ง ธุรกิจต่าง ๆ จะเริ่ม มีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิต ดังนั้น ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ค่อนข้างมากที่สุดในช่วงนี้ก็คือ สินค้าทุน เช่น อุปกรณ์ เครื่องจักรกล รับเหมาก่อสร้างที่จะขยายตัวตามการกระตุ้นการขยายตัวการลงทุนของภาครัฐและการขยายตัวของธุรกิจเอกชนในการขยายกำลังการผลิต

เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวสูงสุด อุตสาห กรรมต่าง ๆ จะมีความต้องการใช้วัตถุดิบสูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาห กรรม ปูนซีเมนต์ เหล็ก ปิโตรเคมี ฯลฯ ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเศรษฐกิจมีการเติบโตที่รวดเร็วหรือร้อนแรงเกินไปแล้วจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และเพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยไม่สูงจนเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะเริ่มใช้นโยบายการเงินเข้มงวดโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพื่อลดความร้อนแรงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ก็คงจะพอเห็นภาพแล้วนะคะ ว่าในวัฏจักรเศรษฐกิจต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อผลประกอบการทั้งการผลิตและกำไรของธุรกิจต่าง ๆ อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม การหมุนตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาจไม่เป็นไปตามแบบแผนทั้งหมด เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วยเช่นความสามารถของผู้บริหาร

แต่สำหรับผู้ลงทุนโดยเฉพาะผู้ลงทุนระยะยาวแล้วควรจะพิจารณาทั้งปัจจัยมหภาค ที่เป็นพื้นฐานและปัจจัยจุลภาครายบริษัทก่อนที่จะลงทุน จึงเป็นผู้ลงทุนที่ชาญฉลาดและประสบความสำเร็จ

Credit >> http://puktiwit.wordpress.com

0 ความคิดเห็น :

ข่าวการศึกษา